ถึงศิษย์รัก… อ.นันทรัตน์ ธรรมวัฒน์ไพศาล
ทุกครั้งที่ได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์อาจารย์ที่เกษียณไปแล้ว เราจะได้ยินประโยคซ้ำๆ ที่ว่า สมัยก่อนโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็กกลางทุ่งนา ซึ่งเราแทบจะจินตนาการทุ่งนากลางเมืองหลวงนี้ไม่ออกจริงๆ จนกระทั่งปัจจุบันโรงเรียนของเราขึ้นชื่อว่า เป็นโรงเรียนที่มีความทันสมัย มีห้องเรียนที่มีความพร้อมครบครัน ความสมบูรณ์แบบเหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดแรงกายแรงใจของเหล่าคณาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ นันทรัตน์ ธรรมวัฒน์ไพศาล ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างอาคารต้นแบบการศึกษา
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักอาจารย์กันเลยค่ะ
อ. นันทรัตน์ ธรรมวัฒน์ไพศาล
เริ่มเข้าสอนตั้งแต่ปี 2519 ในตำแหน่งอัตราจ้าง และบรรจุเป็นอาจารย์ประจำในปี 2522 โดยการชักชวนให้เข้ามาสอนจากท่านอาจารย์พรรณนิภา ในวิชาภาษาไทยและสังคมในระดับชั้น ป.4 และต่อมาก็มีการสลับสับเปลี่ยนไปสอนชั้น ป.2 บ้าง จนป.5 เป็นช่วงสอนประจำในวิชาภาษาไทย จนเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ
ในขณะที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนช่วงปี 2550 – 2554 ทางโรงเรียนได้มีการจัดตั้งก่อสร้างตึกใหม่ ซึ่งอาจารย์ได้ร่วมเป็นกรรมการตรวจการจ้าง มีท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์เป็นประธาน และกรรมการท่านอื่นๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยแต่งตั้ง จนตึกแล้วเสร็จ
เมื่อพ้นตำแหน่งผู้อำนวยการ อาจารย์ได้กลับมาช่วยสอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้น ป.2 จนเกษียณในปี 2559 ระยะเวลาร่วม 40 ปี ในการทำงานที่โรงเรียนสาธิตแห่งนี้ ทำให้อาจารย์รักและผูกพันเรียกว่าเป็นบ้านหลังที่สองที่ให้ความอบอุ่น เพราะอาจารย์รุ่นพี่ๆ เป็นแบบอย่างของความเป็นครูที่มีเมตตาอบรมสั่งสอนศิษย์เหมือนลูกหลาน ดังนั้นจึงเป็นความผูกพันระหว่างศิษย์กับครูมาจนปัจจุบัน
ความประทับใจในโรงเรียนสาธิต
อาจารย์ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า สมัยที่อาจารย์ได้เริ่มเข้ามาสอน ประตูทางเข้าด้านข้าง ด้านนอกประตูจะเป็นคูน้ำมีทางเดินเข้าเป็นสะพานไม้แคบๆ ข้ามคูไปขึ้นรถสองแถวเข้าออกปากซอย ตรงสนามฟุตบอลปัจจุบันเมื่อก่อนด้านหลังเป็นบ้านพักคนงาน และมีอาคารเรือนไม้สองชั้น ใช้เป็นห้องเรียนงานบ้าน-งานประดิษฐ์ สมัยนั้นอาจารย์ทุกคนจะสนิทสนมกันมาก เพราะเรามีกันไม่กี่คน ทั้งอาจารย์รุ่นพี่รุ่นน้องมีอะไรก็จะคอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่กันเสมือนเป็นญาติ เป็นครอบครัวเป็นพี่เป็นน้อง นักเรียนเองก็ยังมีเพียงไม่กี่คน เพราะฉะนั้นลูกศิษย์กับครูก็จะมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เด็กจึงช่างพูด กล้าแสดงออก และเชื่อมั่นในตนเอง
วีรกรรมหรือความประทับใจต่อลูกศิษย์ที่จำได้ไม่ลืม
ความประทับใจในตัวลูกศิษย์ที่จำได้ไม่ลืมมีมากมาย หลายรูปแบบ บางคนก็ทำเอาเหนื่อยเลย คือไม่เรียนแต่เดินรอบห้อง แหย่เพื่อนไปทั่ว หรือมุดใต้โต๊ะ พวกนี้พลังมาก บางคนชอบเถียงกัน จนถึงขั้นชกต่อยก็มื ก็ต้องมีวิธีจัดการ ขอเอาภาษิตจีนมาใช้ รู้เขารู้เรา มาแบบไหนก็ต้องจัดการได้หมด
เด็กสาธิตส่วนใหญ่จะมีลักษณะพิเศษ ซุกซน ดื้อบ้าง กล้าพูดกล้าแสดงออกมาก การที่เด็กช่างพูดบางครั้งผู้ใหญ่จะไม่ชอบเพราะพูดมากจนไม่ค่อยยอมฟัง ลึกๆ แล้ว ครูเชื่อว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพในตนเอง เรียกว่าเก่งทุกคน แต่เก่งกันคนละด้าน เมื่อถึงวัยอันควรเขาจะแสดงศักยภาพนั้นออกมาเอง
ครูเคยพบเจอเด็กที่ซุกซนชอบเล่นแต่ไม่ชอบเรียน ชอบพูดแต่ไม่ชอบฟัง ชอบเย้าแหย่เพื่อน แต่เพื่อนไม่เล่นด้วย หรือไม่ชอบทำการบ้าน อาการทำนองนี้มีในเด็กวัยประถมเกือบทุกคน เพียงแต่แสดงออกมากน้อยต่างกัน ถ้าเราไม่ให้เขาแสดงออกตามลักษณะของเด็กเขาก็จะขาดความสุขเหมือนมีพลังอยู่ในตัวแต่ไม่ได้ปล่อยออกมา ก็จะอึดอัด เก็บกด หน้าที่ของครูนั้นก็คือช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เขาได้แสดงศักยภาพด้านที่ดีที่มีอยู่ในตัวออกมาให้มากที่สุด เพื่อนๆ จะได้เห็นแล้วชื่นชม เขาจะได้ภูมิใจบางคนที่ครูกังวลใจอดเป็นห่วงไม่ได้ คือพวกที่ไม่ยอมใคร ใจร้อน มีเรื่องบ่อยๆ ทั้งพ่อแม่ และครูต้องช่วยแก้ปัญหาเล็กๆ เหล่านี้ให้หมดไป
สุดท้ายอยากให้อาจารย์ฝากความในใจถึงศิษย์รักค่ะ
จวบจนวันนี้อาจารย์หมดห่วงเพราะลูกศิษย์ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดี มีครอบครัวที่น่ารัก บางคนก็กำลังศึกษาต่อ บางคนอาจารย์สอนพ่อแม่มายังได้มีโอกาสสอนลูกของลูกศิษย์อีก ภูมิใจมาก
“ขอฝากถึงลูกศิษย์ทุกคน ขอให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป”
ลักษณะเด่นของเด็กสาธิตคือ กล้าคิด กล้าแสดงออก ความสามารถในการเอาตัวรอดเป็นเลิศในทุกสถานการณ์จุดเด่นนี้ ถูกปลูกฝังอยู่ในตัวพวกเราเด็กสาธิตทุกคน อาจารย์นันทรัตน์ นับเป็นอีกท่านหนึ่งที่เรียกได้ว่า มีความเป็นครูอยู่ในจิตวิญญาณ ครูที่สามารถมองเห็น และดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้ ครูที่ไม่ตัดสินพฤติกรรมเด็กจากการดื้อหรือการซน เราช่างโชคดียิ่งนักที่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีครูใส่ใจเช่นนี้
ทางสมาคมศิษย์เก่าสาธิต ประสานมิตร ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์นันทรัตน์ ธรรมวัฒน์ไพศาล มา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ