ถึงศิษย์รัก… ดร.สุนันทา มนัสมงคล
อาจารย์อีกหนึ่งท่านที่พวกเราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี คือ อาจารย์จากหมวดวิทยาศาสตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังหลายต่อหลายโครงงาน ทั้งดูแลสภานักเรียน และโครงการห้องเรียนสีเขียว และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ความทุ่มเทนี้ทำให้อาจารย์ได้รับคัดเลือกให้เป็น ครูดีเด่น เป็นที่น่าภาคภูมิใจของโรงเรียนอย่างมาก วันนี้เราจะมาพบกับ อาจารย์ “เล็ก” สุนันทา มนัสมงคล กันค่ะ
ดร.สุนันทา มนัสมงคล
อาจารย์สุนันทา หรือที่เรารู้จักกันในนาม อาจารย์เล็ก เริ่มเข้าสอนในปี พ.ศ. 2519 โดยประจำชั้น มศ.4 ร่วมกับ อาจารย์เลื่อน กล้าหาญ โดยเริ่มจากการสอนวิชาชีววิทยา ต่อมาได้ย้ายมาสอนประจำวิชาวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียนสายศิลป์ เนื่องจากในขณะนั้นอาจารย์ประจำวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพมีบุคลากรไม่เพียงพอ หลังจากนั้นในปี พ.ศ 2546 ได้มีการปรับหลักสูตรใหม่ อาจารย์จึงได้เปลี่ยนมาสอนวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) โดยสอนทั้งแผนการเรียนสายวิทย์ และสายศิลป์ จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2554 (รวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 35 ปี)
ตำแหน่งทางด้านวิชาการ อาจารย์ได้รับตำแหน่งหัวหน้าหมวดคอมพิวเตอร์ (ชั่วคราว) ในปี พ.ศ. 2535 หลังจากนั้นอาจารย์ได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ.2538 และกลับเข้ามาทำงานสอนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2541 ในตำแหน่งหัวหน้าหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ ต่อมาช่วงสมัยที่อาจารย์อำไพ เป็นผู้อำนวยการ อาจารย์สุนันทาได้รับตำแหน่งเป็น รองผู้อำนวยการฝ่ายนิเทศ – วิจัย และได้ย้ายตำแหน่งมาเป็น รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จนกระทั่งหมดวาระ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายวิชาการจัดทำแผนการเรียนใหม่ คือ แผนการเรียน สหศิลป์ สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจพิเศษสามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมได้จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมทั้งได้เพิ่มหลักสูตรพหุศิลป์ซึ่งเป็นรากฐานของวิชาเอกต่างๆ ที่ปัจจุบันมีเพิ่มเป็น 25 วิชาเอก
ในปี พ.ศ. 2552 จนกระทั่งเกษียณอายุ อาจารย์สุนันทา ได้รับตำแหน่งให้ดูแลสภานักเรียน โดยมีโครงการที่น่าสนใจซึ่งทำร่วมกับ ดร.สุเมธ โดยได้เข้าร่วมโครงการ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ซึ่งเด็กๆ ในสภานักเรียนให้ความร่วมมือ และได้รับการตอบรับจากโครงการนี้เป็นอย่างดีเยี่ยม โดยหนึ่งในความภูมิใจตลอดระยะเวลาการทำงานอาจารย์ได้รับเลือกเป็นครูดีเด่น ของมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ในปี พ.ศ. 2553
ส่วนในช่วงสมัยที่อาจารย์พูลศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ อาจารย์สุนันทาได้รับหน้าที่ให้เป็นหัวหน้างานห้องเรียนสีเขียว ซึ่งอาจารย์บุกเบิกโครงการนี้ โดยเป็นโครงการที่ร่วมกับ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทางการไฟฟ้าฯ ได้จัดทำห้องเรียนสีเขียวให้กับทางโรงเรียน โดยจะมีห้องทดลอง (Lab) ให้ความรู้และการทดลองเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า โดยจะมีรุ่นพี่คอยดูแลประจำห้องเพื่อให้ความรู้กับน้องๆ ที่สนใจ โดยน้องๆ ได้ใช้เวลาว่างเพื่อเข้ามาทดลองด้านต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกล้มเลิกไปแล้ว
ความประทับใจเกี่ยวกับโรงเรียนของเรา
ครูถือว่าโรงเรียนสาธิตแห่งนี้ เป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของครู ครูอยู่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้านเสียอีก ความประทับใจนี้มีตั้งแต่เพื่อนร่วมงาน คือ พี่ๆ น้องๆ อาจารย์น่ารักทุกคน ในปีหนึ่งๆเราก็มักจะจัดไปเที่ยวด้วยกัน 2-3 หน และในทุกๆ เทอมก็จะมีอาจารย์สีนวล (หัวหน้ากลุ่มสาระคหกรรม) มาคอยทำอาหารกลางวันเลี้ยงพวกเรา อาหารมีเท่าไหร่ กินได้ไม่อั้น ขอแค่พวกเรากินอย่างอร่อย อาจารย์ท่านก็มีความสุขแล้ว อาจารย์รุ่นพี่ทุกคนใจดี เราทำงานด้วยกันบ่อย เราทุกคนต่างก็นับถือกันเป็นพี่เป็นน้อง อย่างเช่น ถ้าน้องทำได้ไม่ดี ก็จะมีพี่ๆ คอยเตือน เพราะเราเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน ในทุกๆ วันครูมีความสุขกับการทำงานที่โรงเรียนสาธิตแห่งนี้
วีรกรรมเกี่ยวกับศิษย์ที่จำได้ไม่ลืม
ครูได้สอนทั้งเด็กสายวิทย์และเด็กสายศิลป์ ซึ่งทั้งสองสายการเรียนนี้มีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นเด็กสายวิทย์ ก็จะยึดถือเรื่องการเรียนและเรื่องคะแนนเป็นสำคัญ ส่วนเด็กสายศิลป์ก็จะเน้นด้านบันเทิงเป็นหลัก หรือที่เรามักจะเรียกกันว่าสายศิลป์บันเทิงนั่นเอง ในส่วนของเด็กสายวิทย์เองก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เด็กเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งวิทย์บันเทิงเองก็มีเหมือนกันนะ แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กทั้งสายศิลป์และสายวิทย์เหมือนกันเลยก็คือ เราต่างก็รักเพื่อนฝูงเป็นชีวิตจิตใจเรียกได้ว่ารักมาก มากที่สู้ดดด (เน้นเสียง)
อย่างเวลาเพื่อนมีปัญหาก็พร้อมที่จะบุกตะลุยไปด้วยกันโดยมิได้คำนึงถึงผลที่ตามมา อย่าง เด็กผู้ชายบางกลุ่มด้วยความที่เป็นวัยรุ่น วัยคึกคะนอง ก็จะมีความอยากรู้อยากลองในเรื่องของเหล้า-บุหรี่ ซึ่งครูก็เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของเด็ก แต่เราก็จะต้องคอยเตือนคอยสอนหรือลงโทษตามกฎระเบียบ แต่ถ้าบางครั้งหนักมากจริงๆ ก็อาจต้องลงโทษโดยการให้พักการเรียน เพื่อให้เขาได้สำนึกในสิ่งที่ทำลงไป ในส่วนของเด็กผู้หญิงนั้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ครูก็จะคอยเตือนเขาในเรื่องของการวางตัวต่อเพศตรงข้าม
อีกอย่างเวลาที่ครูสอน ครูจะค่อนข้างดุมากด้วยความที่ครูเป็นคนเสียงดั งเด็กๆ ก็เลยมักจะกลัวครู ครูจะให้งานหนักเท่ากันหมดโดยไม่คำนึงว่าเป็นเด็กสายไหน ถึงแม้ว่าจะเป็นห้องศิลป์ ครูก็จะสั่งให้เขาทำโครงงาน ซึ่งเด็กๆ ต้องค้นคว้าเกี่ยวกับโครงงานให้ดี ว่ามีเหตุผลหรือมีทฤษฎีอะไรรองรับในโครงงานนั้น และต้องสามารถตอบโจทย์ครูให้ได้ ครูจะไม่ยอมปล่อยให้เรียนกันแบบง่ายๆ สบายๆ นั้นก็เพื่อตัวของเด็กๆ เอง เด็กๆ อาจจะคิดว่าครูโหด แต่เพราะครูคิดว่าการปลูกฝังด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ให้พวกเราได้รู้ มันจะทำให้พวกเราเป็นคนมีเหตุมีผลแล้วก็จะได้รู้ว่าการที่เราจะตอบคำถามอะไรซักอย่าง คำตอบนั้นเราสามารถทดสอบหรือทดลองได้ เพื่อที่เราจะยืนยันว่าความคิดของเรานั้นถูกต้องจริงหรือไม่
วีรกรรมของลูกศิษย์อาจทำให้หงุดหงิดหรืออาจจะโกรธขณะนั้น แต่เมื่อมาย้อนคิดดู วีรกรรมเหล่านั้นก็ทำให้ครูเติบโต และสามารถใช้ประสบการณ์จากสาธิตไปสอนนักศึกษาหรือนิสิตที่ต้องการเป็นครูในอนาคตได้เป็นอย่างดี สิ่งแรกเลยที่ครูทุกคนควรจะรู้ในการสอนนั้น คือ เด็กๆ ทุกคนต้องการความรักความเอาใจใส่ นั่นคือพื้นฐานที่ครูทุกคนควรจะมี เราควรต้องรู้จักเด็กทุกคนให้ดีพอ
ความในใจถึงศิษย์รัก
ครูอยากจะบอกว่าการที่เราจะเป็นคนดีมันค่อนข้างทำได้ยาก เพราะว่าสังคมรอบตัวมักจะพาเราเปลี่ยนไป ครูอยากให้พวกเราได้พึงระลึกไว้ว่า กรรมดี หรือกุศลกรรม ที่เราพอจะทำได้ ก็คือ มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ถ้าเราไม่อยากมีเวรมีกรรมต่อกันหรือผูกพันกันอีก ไม่อยากสร้างเวรสร้างกรรมต่อกัน ก็จงตัดมโนกรรมออกไปเสีย นั่นคืออย่าไปคิดแทนคนอื่น ให้พึงระลึกไว้ว่าตัวเรารู้ตัวเราเท่านั้น จงอย่าได้คิดแทนใคร จงหมั่นทำความดี ถือศีลห้า ให้จิตใจบริสุทธิ์ ศรัทธาในพระรัตนตรัย เพียงเท่านี้เราก็จะเป็นคนดีทั้งต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม และประเทศชาติ
ความทุ่มเท ความมุ่งมั่นในการทำงานตลอด 35 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่หลากหลายทั้งต่อตัวนักเรียนเอง และต่อโรงเรียนของเรา ถึงแม้อาจารย์จะเกษียณไปแล้ว แต่ความรู้สึก หน้าที่ของความเป็นครูที่ยังคอยห่วงลูกศิษย์ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย
ทางสมาคมศิษย์เก่าสาธิต ประสานมิตร ต้องขอกราบขอบพระคุณ ดร.สุนันทา มนัสมงคล ที่มาแชร์เรื่องราวอันน่าประทับใจเกี่ยวกับโรงเรียนที่พวกเราคิดถึง แล้วมาติดตามกันว่าอาจารย์ท่านถัดไปจะเป็นใคร จะใช่คนที่คุณกำลังคิดถึง หรือไม่ ต้องติดตามค่ะ