ถึงศิษย์รัก… อ.สุรเดช วันทยา

โรงเรียนสาธิต ประสานมิตรของเรา มีชื่อเสียงมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างชัดเจนคือการนำกิจกรรมมาปรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน แทนที่จะมุ่งเน่นแค่วิชาการอย่างเดียว อาจารย์ทุกท่านจะมีอิสระในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้น่าสนใจตามสไตล์ของตนเอง อ.สุรเดช เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งมีวิธีการสอนที่น่าจดจำ การสร้างสรรค์กิจกรรมสนุกสนานหลากหลาย มาสอนให้พวกเราชาวสาธิตได้เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มทักษะทางการอยู่ร่วมกันในสังคม การคิดแก้ปัญหา หลายเหตุการณ์ยังช่วยสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้กับเด็กๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และลงตัวทั้งหมดหล่อหลอมให้เด็กสาธิตมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ อย่างชัดเจน

อาจารย์สุรเดช  วันทยา

ในปี พ.ศ. 2501 อาจารย์ศึกษาที่วิทยาลัยเพาะช่าง พ.ศ. 2503 เริ่มฝึกสอนที่โรงเรียนที่โรงเรียนสาธิต ประสานมิตร  ในปี พ.ศ. 2506 อาจารย์ได้เริ่มฝึกสอนที่สาธิต มศว ปทุมวัน รศ.ไพเราะ ตัณฑิกุล ได้เล็งเห็นความสามารถด้านศิลปะ จึงให้โอกาสมาสอนที่สาธิตประสานมิตร ฝ่ายประถมในปีเดียวกัน อาจารย์ได้สอนเด็กๆ ถึง 5 วิชาด้วยกัน ได้แก่ วิชา ศิลปะ  เกษตร พละ ลูกเสือ และว่ายน้ำ พ.ศ. 2516 อาจารย์ได้ศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จบ กศ.บ. เคยรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน และเกษียณอายุในปี 2542 ในระหว่างทำงานนั้น อาจารย์สุรเดช ยังถูกเรียนเชิญไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนเทคนิคการวาดภาพตามสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 50 ครั้ง เคยได้รับโล่จาก ศ.ดร.จรัส สุวรรณเวลา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเคยร่วมเป็นกรรมการตัดสินภาพวาดทั้งระดับประถมและมัธยม ซึ่งถือได้ว่าอาจารย์สุรเดชเป็นอีกหนึ่งในตำนานรุ่นบุกเบิกด้านศิลปะของโรงเรียนสาธิตเราก็ว่าได้

โดยหลังเกษียณอายุ ศ.ดร.อารีย์ สัณหฉวี ได้ให้โอกาสอาจารย์ไปสอนที่สาธิตบางนาเป็นระยะเวลาถึง 8 ปี ในปี พ.ศ. 2558 อาจารย์ได้กลับมาเป็นอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร โดยจะเข้าสอนประจำในวันอังคารและวันพฤหัสบดี ทุกวันนี้อาจารย์ยังเป็นอาสาสมัครในมูลนิธิ Art For All (มูลนิธิ ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์) อีกด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เข้าร่วมมูลนิธิถึงปัจจุบันเป็นเวลาทั้งสิ้น 24 ปี เลยทีเดียว

ความประทับใจต่อโรงเรียน

อาจารย์สอนศิลปะเด็กเล็กถึง ป.7 การสอนศิลปะนั้นช่วยขัดเกลาจิตใจที่อ่อนโยนของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี การเรียนรู้อะไรต่างๆ ก็เลยเริ่มไปพร้อมๆ กันกับนักเรียน ทำให้เกิดความสนิทสนมรวมไปถึงความผูกพันต่างๆ มากมาย อย่างในชั่วโมงว่ายน้ำเนี่ย สมัยก่อนยังไม่มีสระว่ายน้ำในโรงเรียน พอมองเห็นว่าโรงเรียนเราติดกับบ่อดิน (ดินที่เกิจากการขุด) บางครั้งเราก็ใช้บ่อข้างๆโรงเรียนนี่แหละสอนว่ายน้ำให้กับนักเรียน นักเรียนเองก็ได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนานกันมากมายทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์ ได้มีโอกาสอาจารย์ก็จะพานักเรียน ป.7 ไปสอนที่สระว่ายน้ำโอลิมปิก สนามศุภชลาศัย ซึ่งต่อมา โรงเรียนของเราได้สร้าง สระว่ายน้ำ ยาว 20 เมตร และเชิญครูจากประเทศ ออสเตรเลียมาสอน อาจารย์ก็ได้เรียนและสอนอยู่ระยะหนึ่ง อย่างที่บอกว่าจำนวนนักเรียนสมัยนั้นยังไม่ได้มากมายเท่ากับสมัยนี้  เพราะฉะนั้นความรัก ความผูกพัน ความสนิทสนมจึงเกิดขึ้นทั้งกับอาจารย์ กับลูกศิษย์ รวมไปจนถึงผู้ปกครอง

กองทุนอาจารย์สุรเดช

กองทุนนี้เริ่มต้นมาจากการที่อาจารย์ชอบเก็บรวบรวมผลงานศิลปะของเด็กๆ เอาไว้ รู้สึกว่ามันเป็นความทรงจำดีๆ เมื่อได้ดูได้ชมก็ทำให้หวนนึกถึงวันก่อนๆ อาจารย์จึงได้จัดงานแสดงภาพของนักเรียนขึ้นมา เพื่อให้ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้เข้าชม ซึ่งอาจารย์ธนวดี ธีรภัทรสกุล ได้เล็งเห็นว่าบางภาพที่จัดแสดงมีอายุถึง 20-30 ปีเลย จึงได้มีการเสนอเป็นไอเดียว่าน่าจะนำภาพเหล่านี้ออกประมูลเพื่อใช้เป็นกองทุนในการพัฒนาโครงการด้านศิลปะ และเผื่อมีศิษย์เก่าคนไหนสนใจภาพผลงานของตนเองในสมัยเรียนนั้น ก็สามารถมาประมูลเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ อาจารย์ก็เห็นว่าเป็นความคิดที่ดี ประจวบกับสมัยนั้นคุณพัฒนพงศ์ ชวะโนทัย เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ คุณกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา หัวแรงใหญ่ในการจัดงาน  และคุณภัทรภร วรรธนกรินธ์ เลขาธิการสมาคมฯ  ได้ร่วมกันจัดงานแสดงภาพ รวมถึงการออกประมูลภาพต่างๆ  ในสมัยของ ผศ.กอบรัตน์ เรืองผกา เป็นผู้อำนวยการ และนำเงินเข้ากองทุน โดยใช้ชื่อว่า กองทุนอาจารย์สุรเดช วันทยา โดยในงาน อาจารย์ได้ให้ถ้วย (mug) ประมาณ 150 ใบที่สะสมไว้เพื่อจัดจำหน่ายในงานด้วย อีกทั้งยังมีการประกวดศิลปะมอบรางวัลให้กับผู้ที่ชนะ เพราะฉะนั้นเงินที่ได้มาที่กองทุนตรงนี้ก็อยากจะให้มีการจัดตั้งต่อไปเพื่อใช้ในการพัฒนาด้านศิลปะ และ ใช้สำหรับการจัดงานประกวดต่างๆ เพื่อให้ศิลปะยังคงอยู่ร่วมกับพวกเราชาวสาธิตประสานมิตรตลอดไป

วีรกรรมหรือความประทับใจเกี่ยวกับศิษย์ที่จำได้ไม่ลืม

เมื่อพูดถึงศิลปะมาเยอะแล้ว อาจารย์เลยขอพูดถึงความประทับใจในวงดนตรีในโรงเรียน สาธิตของเราบ้าง สมัยนั้นได้มีการจัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งขึ้นมา ซึ่งนักเรียนในวงก็ขยันขันแข็งกันมาก ซ้อมดนตรีด้วยความสนุกสนาน จนกระทั่งเป็นที่รู้จัก ได้รับเชิญไปจัดงานแสดงตามที่ต่างๆ ได้ออกทีวี หารายได้ให้กับสมาคมผู้ปกครองและครู  เรียกได้ว่าเป็นความประทับใจที่อาจารย์ไม่เคยลืมเลย

ความในใจถึงศิษย์

สำหรับอาจารย์นั้น คติประจำใจของอาจารย์ก็คือ การทำดีให้ดู เป็นครูให้เห็น ถ้าเราพูดคุยแต่กับคนรู้ใจ เราจะห่างไกลจากสังคม ถ้าเราพูดคุยกับคนทั่วไป เราก็จะก้าวไกลในสังคม เพราะฉะนั้นอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ คนเราต้องเปิดใจรับฟัง ไม่ใช่ว่าจะต้องรับฟังแต่คนที่เก่งกว่ามีวุฒิสูงกว่าเสมอไป เหมือนดั่งเช่นการสอนของอาจารย์นั้น อาจารย์ไม่เคยกลัวที่จะถามศิษย์ บางครั้งนักเรียนตัวน้อยๆ ก็มีวิธีการมีระบบความคิดดีๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งก็ต้องเรียนรู้จากเขา ซึ่งบางทีอาจารย์ก็ลองให้รุ่นพี่รุ่นน้องสลับกันออกไอเดียการเรียนการสอนระหว่างกันและกัน เช่นแบ่งทีมกันสอน พี่สอนน้อง น้องสอนพี่ เชื่อไหมว่ามันได้ผลดีอย่างคาดไม่ถึง ส่วนหนึ่งก็เพราะความคิดเห็นจากนักเรียนๆ ที่เอามานำเสนอ เพราะฉะนั้นจำไว้เลยอย่ากลัวที่ลอง อย่ากลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ


กว่า 30 ปีที่ผลงานของเหล่าลูกศิษย์ที่อาจารย์ สุรเดช ได้สะสมมาถึงทุกวันนี้นอกจากจะมีคุณค่าที่ตัวผลงานแล้วยังมีคุณค่าทางจิตใจ เชื่อว่าหลายคนอาจลืมไปแล้ว หรือแทบไม่เหลือความทรงจำเลยว่าตอนนั้นเราทำอะไรลงไป แต่สิ่งที่มีเหลืออยู่ คือ ความบริสุทธิ์ของความคิดในวัยเยาว์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะเหล่านั้น วันนี้ทางสมาคมศิษย์เก่าฯ ขอทำหน้าที่เป็นสะพาน โดยใช้พลัง โซเชียล ตามหาเจ้าของผลงานเหล่านั้น เพื่อมาร่วมเก็บความทรงจำถึงโรงเรียนของเราร่วมกัน พี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ที่เคยเรียนกับอาจารย์ สุรเดช แล้วมีชื่อในภาพเหล่านี้ ลองช่วยกันแชร์ให้ภาพนี้ถึงคนวาด ส่งกลับไปหาเจ้าของเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำดีๆ สมัยวัยเยาว์ของพวกเรา กองทุนอาจารย์สุรเดชยังต้องการผู้สนใจร่วมสนับสนุนผลงานศิลปะเพื่อเด็กๆ ทั้งด้านทุนทรัพย์ หรือด้านอื่นๆ ผู้ใดสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกองทุนนี้ติดต่อทางเราได้นะคะ 

วันนี้ทางสมาคมศิษย์เก่าฯ ต้องขอขอบพระคุณ อาจารย์สุรเดช วันทยา ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและผลงานที่น่าประทับใจ ให้กับสมาคมศิษย์เก่าสาธิต ประสานมิตร และทางเราหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าพลังโซเชียลของเด็กสาธิต จะทำให้ภาพนั้นกลับไปถึงมือคนวาดด้วยเวลาอันรวดเร็ว แล้วรอติดตามกันนะคะ