ถึงศิษย์รัก… อ.วรดี สิรพิทูร

ทุกครั้งที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเหล่าอาจารย์ที่เราเคารพรัก ก็ทำให้เราอดคิดถึงสมัยเรียน สมัยวัยเยาว์ของตัวเอง สมัยนั้นเด็กสาธิตขึ้นชื่อว่าพูดจาเพราะมาก เราจะเรียกผู้อื่นว่า “คุณ” กับ “เรา” และการพูดคำหยาบดูเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ซึ่งก็จะได้ยินเสียงชมจากผู้ใหญ่ทุกครั้งถึงความสุภาพ ความอ่อนโยนต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการอบรมจากอาจารย์ผู้เต็มไปด้วยความเมตตา
วันนี้เราจะมาพูดคุยกับอาจารย์อีกท่าน ที่ทุกคนจะต้องคิดถึง อาจารย์วรดี สิรพิทูร จะมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจกันค่ะ

อาจารย์ วรดี สิรพิทูร
อาจารย์วรดี สิรพิทูร เริ่มเข้าสอนในปี พ.ศ.2515 โดยเริ่มจากการเป็นอาจารย์พิเศษ เข้าสอนในวิชาภาษาอังกฤษ ป.7 และวิชาวิทยาศาสตร์ ป.3 จนกระทั่งได้เป็นอาจารย์ประจำสอนเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมปลาย รวมถึงได้เข้ามาช่วยงานทางด้านฝ่ายบริหารในช่วงสมัยของท่านอาจารย์ประกิต โดยได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2546 รวมอายุงานทั้งสิ้น 31 ปี
ทุกวันนี้อาจารย์ก็ยังมีหลานที่เป็นลูกศิษย์ โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) ของเราอีกด้วย

ความประทับใจต่อโรงเรียนสาธิต
อาจารย์ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า ก่อนหน้าที่ครูจะมาสอนที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) ครูได้สอนโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งมาก่อน แต่ด้วยความที่มีโอกาสใกล้ชิดกับโรงเรียนและเด็กๆ สาธิต ครูได้เห็นถึงความน่ารักและประทับใจหลายอย่างในโรงเรียนแห่งนี้ จึงได้ทำการย้ายออก เพื่อมาสมัครสอบเข้าและเป็นครูที่นี้ในช่วงสมัยที่ท่านอาจารย์ไพเราะ เป็นครูใหญ่อยู่ในขณะนั้น
อีกสิ่งที่ครูรู้สึกประทับใจเกี่ยวกับนักเรียนสาธิตของเราก็คือ นักเรียนของเรามีวาจาที่สุภาพ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนชายของเราในสมัยนั้นจะเรียกแทนกันและกันว่า “คุณ” กับ “ผม” ซึ่งไม่ว่าใครได้ยินได้ฟังต่างก็พากันชื่นชม รวมถึงเด็กสาธิตทุกคนจะมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ไม่ใช่เฉพาะแต่เด็กสาธิตเราเท่านั้น เด็กสาธิตอื่นก็เช่นกัน เรียกได้ว่า หากได้พบเจอกันตามสถานที่ต่างๆ เราก็สามารถมองออกได้ชัดเจนเลยว่า “เด็กคนไหนคือเด็กสาธิต”

วีรกรรมของลูกศิษย์ที่จำได้ไม่ลืม
ด้วยความที่เด็กสาธิตนั้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องของการกล้าคิด กล้าพูด และกล้าแสดงออก บางครั้งหลังการสอนครูก็มักจะให้เด็กๆ เขียนคอมเม้นท์ถึงครูหลังจบคาบเรียน ซึ่งเขาก็กล้าที่จะเขียนบอกครูตรงๆ ในหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น “วันนี้อาจารย์ moody (อารมณ์ไม่ดี) มาจากห้องอื่น แต่ทำไมถึงยังมา moody ต่อที่ห้องพวกผม” เมื่อครูได้อ่านแล้วก็รู้สึกได้ว่า วันนั้นครูก็เป็นอย่างที่เด็กๆ พูดจริงๆ ครูก็รับรู้และนำไปปรับแก้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ครูเองก็ได้เรียนรู้จากพวกเด็กๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องน้ำหอม ซึ่งมีอยู่วันหนึ่งครูได้ฉีดน้ำหอมมาโรงเรียน วันนั้นครูก็ไปยืนดูเด็กๆ ที่หน้าเสาธง เด็กๆ พูดโวยวายกับครูว่า โอโห้!! ทำไมเหม็นจัง เวียนหัวมาก พอครูได้ฟังเด็กๆ พูดแบบนี้แล้ว ตั้งแต่วันนั้นเชื่อไหมว่าครูเก็บน้ำหอมขวดนั้นแล้วก็ไม่นำมาใช้อีกเลย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากเด็กๆ อีกเช่นกัน วันนั้นทำให้ครูรู้ว่า.. กลิ่นที่รู้สึกว่าหอมสำหรับเรานั้น อาจจะเหม็นสำหรับคนอื่นก็ได้ มันทำให้ครูได้นึกย้อนไปว่าความรู้สึกแบบนี้ครูเองก็เคยรู้สึกเช่นกันเวลาที่ได้กลิ่นน้ำหอมแบบรุนแรงจากบางคนที่ครูเคยพบเจอในสมัยนั้น

ความในใจถึงศิษย์รัก
ลูกศิษย์ของครูน่ารักอยู่แล้ว แต่ครูอยากให้รักษาความสุภาพ อ่อนน้อม ถ่อมตน เอาไว้ให้ดี เพราะสิ่งนี้หากใครได้พบเห็นก็ได้รู้สึกรักใคร่ เอ็นดู รวมถึงเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญเลยคือ เราต้องมีความรับผิดชอบ
เชื่อได้ว่าหลังจากทุกท่านอ่านบทความนี้ จะรับรู้ได้เลยว่า อาจารย์คือต้นแบบของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อาจารย์รับฟังแม้กระทั่งเสียงหรือความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ของเด็ก ความละเอียดอ่อนเหล่านี้ ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่ลูกศิษย์
วันนี้ทางสมาคมศิษย์เก่าสาธิต ประสานมิตร ถือว่าได้รับเกียรติอย่างมากที่อาจารย์เสียสละเวลามาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจกับเรา ทางสมาคมฯ ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์วรดี สิรพิทูร มา ณ โอกาสนี้ค่ะ