ถึงศิษย์รัก… อ.เยาวลักษณ์ วรรณม่วง
อาจารย์เยาวลักษณ์ วรรณม่วง
เข้าทำงานในปีพ.ศ. 2540 โดยเริ่มจากทำงานที่ศูนย์เพื่อนเด็ก ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กออทิสติก เด็กแอลดี เด็กสมาธิสั้น รวมไปถึงเป็นครูผู้ช่วยประจำชั้น ภายหลังมาเป็นผู้ช่วยประจำชั้นระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งมีเด็กพิเศษเรียนรวมอยู่ด้วย ซึ่งการเรียนของเด็กพิเศษนั้นจะได้เรียนกับเพื่อนๆ ในห้องและมีบางวิชาที่แยกออกไปเรียนที่ศูนย์เพื่อนเด็ก ซึ่งสมัยก่อนจะตั้งอยู่บริเวณด้านล่างตรงห้องใต้บันไดของตึก 5 (ตึกฉันทะปัจจุบัน) ปัจจุบันห้องศูนย์เพื่อนเด็กและห้องแนะแนวมารวมกันโดยได้ย้ายมาอยู่ที่ตึก 7 ชั้นล่างแทน โดยมีผู้ปกครองที่เป็นคุณหมอมาช่วยประเมินแบบสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง อาทิเช่น คนนี้อ่านหนังสือไม่ออก คนนี้สมาธิสั้น คุณหมอก็จะช่วยวินิจฉัยให้ว่าผลประเมินออกมาเป็นอย่างไร มีคนไหนต้องพบคุณหมอเพิ่มเติมเพื่อเช็คไอคิวหรือไม่ ซึ่งก็เป็นการดีเพราะโรงเรียนกับทางบ้านจะได้ดำเนินการตามพัฒนาการของเด็กไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อผลประเมินออกมาแล้วเราก็จะเรียนเชิญผู้ปกครองมาเพื่อพูดคุยเพื่อให้เข้าใจเด็กแต่ละคนมากขึ้น
อาจารย์ยังบอกพวกเราอีกว่าสมัยก่อนโรงเรียนของเราจะเรียนแบบบูรณาการก็จะมีอาจารย์ที่ประจำแต่ละห้องสองคนด้วยกัน โดยประจำชั้นและผู้ช่วยจะสอนวิชาหลัก 3 วิชา คือ วิชาเลข ภาษาไทย และสังคม โดยอาจารย์แต่ละคนก็จะอยู่ประจำในห้องนั้นเลย หรือบางครั้งอาจารย์ก็ได้รับหน้าที่ดูแลประจำอยู่ในห้องแนะแนวกับอาจารย์ปิยนุช (ซึ่งปัจจุบันอาจารย์ได้ย้ายไปอยู่ที่จิตรลดา) ก็จะช่วยกันดูแลเด็กๆ ที่ห้องแนะแนว จะมีการนัดเด็กนักเรียนบางคนในตอนเช้าประมาณ 6:15 น. เพื่อมาเรียนซ่อมเสริมปรับพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องสมาธิ หรือแม้แต่ตอนเย็น หากนักเรียนมีงานค้างวิชาใดที่ไม่เข้าใจอาจารย์ก็จะคอยแนะนำและช่วยสอนเสริมอยู่จนกระทั่งเขากลับบ้าน ก็จะสลับอยู่อย่างนี้ คือ ประจำชั้นระดับประถมศึกษาปีที่ 2 กับเป็นอาจารย์ประจำห้องแนะแนว จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2562
ซึ่งภายหลังจากเกษียณ ก็มีเด็กพิเศษติดต่อมาชวนอาจารย์ไปสอนที่คอนโด รวมถึงยังคงไปสอนที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งการสอนที่โรงพยาบาลกรุงเทพนี้ อาจารย์สอนมา ยาวนานพอๆ กับตอนที่สอนอยู่โรงเรียน โดยอาจารย์จะรับสอนเสริมที่โรงพยาบาลกรุงเทพในวันเสาร์และวันอาทิตย์
ความประทับใจต่อโรงเรียนของเรา
โรงเรียนของเรา อาจารย์ต้องบอกว่าเราอยู่กันแบบพี่น้อง อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย อาจมีบ้างที่เถียงกันหรือทะเลาะกัน แต่ก็เพราะเราอยากให้งานออกมาดี ถึงจะมีบางทีที่มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่เมื่อถึงเวลามีปัญหาอะไรเราก็จะห่วงใยกัน หรือเวลาที่ใครเดือดร้อนเราก็จะช่วยเหลือกัน ทุกคนล้วนแล้วแต่หวังดีต่อกัน ผู้บริหารเองก็เอาใจใส่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเจ้านายมีแต่คิดว่าเป็นพี่เป็นน้อง ผู้ปกครองก็น่ารักห่วงใยใส่ใจความรู้สึกของอาจารย์เป็นอย่างดี
วีรกรรมของลูกศิษย์ที่จำได้ไม่ลืม
เนื่องจากอาจารย์ดูแลเด็กออทิสติกมาหลายคนก็จะมีวีรกรรมแสบซนน่ารักมาเล่าให้เราฟังกันเยอะหน่อย อย่างเคสแรกเลยเป็นเคสเด็กแพ้อาหาร ซึ่งตัวเด็กบอกเราว่าแพ้นมวัวและไม่สามารถทานนมจืดได้ เมื่อทานแล้วจะอาเจียนออกมาซึ่งสามารถทานได้เฉพาะนมรสช็อกโกแลตเท่านั้นและผู้ปกครองก็ยืนยันมาแบบนี้เช่นเดียวกันกับเด็ก อาจารย์จึงไปอ่านส่วนผสมของนมช็อกโกแลตดูปรากฏว่ามีส่วนผสมของนมวัวอยู่ถึง 90% และมีช็อกโกแลตเพียง 3% เท่านั้น อาจารย์จึงลองอธิบายให้เขาฟังและลองให้ทานนมจืด ซึ่งหลังจากทานเขาก็อาเจียนออกมา อาจารย์ก็นั่งคิดว่าจะทำยังไงดีนะให้เขาทานนมจืดแบบปกติทั่วไปได้ จากนั้นอาจารย์จึงค่อยๆ ผสมนมจืดปกติลงไปในนมช็อกโกแลตแล้วลองให้เขาทานดู โดยเค้าก็ทานได้ปกติและเมื่อเห็นเขาทานได้จึงเริ่มเพิ่มปริมาณนมจืดมากขึ้นในทุกวัน จนวันนึงอาจารย์ผสมนมจืดมากเป็นพิเศษ เขาก็โวยวายว่า นี่.. นมจืด เขาทานไม่ได้นะ เขาแพ้ อาจารย์จึงเฉลยกับเขาว่าเธอก็ทานนมจืดแบบนี้ทุกวันแหละยังสามารถทานได้เลยโดยไม่มีปัญหาอะไร
เคสที่สอง เป็นเรื่องเกียวกับของหาย ซึ่งเด็กออทิสติกเนี่ยเวลาของเขาหาย เขาก็จะรู้สึกเป็นกังวลมากกว่าปกติ วันหนึ่งเขาทำบัตรประจำตัวนักเรียนหายไป ซึ่งเวลาบัตรหายก็จะต้องทำเรื่องมากมาย ซึ่งเค้าก็อาจจะกลัวว่าไม่ได้กลับบ้าน ครูก็บอกเค้าไปว่าไม่เป็นไรนะเดี๋ยวให้คุณพ่อพากลับบ้านได้ แต่เค้าก็ยังกังวลมากอยู่ดี ยังคงโวยวาย ครูก็เลยคิดแผนว่าจะทำยังไงให้เขาเลิกนิสัยนี้ ก็เลยวางแผนให้รองเท้าเขาลองหายไปดูซิว่าเค้าจะโอเคไหม ถ้ามีของหายอีก อาจารย์ก็ได้ปรึกษากับคุณพ่อเขาก่อนว่าจะใช้วิธีนี้นะซึ่งคุณพ่อเขาก็โอเค อาจารย์ก็เลยเอารองเท้าเขาไปซ่อนข้างนึงดูว่าเขาจะจัดการกับตัวเองยังไงจะแก้ปัญหาอย่างไร เขายังคงโวยวายอยู่ อาจารย์จึงเรียกเขามานั่งคุยกัน ลองปรึกษากันว่าจะแก้ไขยังไงดีนะ สรุปว่าเขาก็เอารองเท้าสำรองที่โรงเรียนกลับบ้านไปแทน พอวันรุ่งขึ้นก็เอารองเท้ามาคืนเขา แล้ววันถัดไปก็ลองเอารองเท้าไปซ่อนอีก ครั้งนี้เขาดีขึ้น โวยวายน้อยลง และเริ่มรู้จักแก้ปัญหาได้เอง
ส่วนเคสที่สาม เป็นปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู เวลาที่ไม่ได้ดั่งใจเด็กคนนี้จะชอบกรีดร้องเสียงดังและวิ่งออกไปนอกห้อง ตอนนั้นอาจารย์ก็ตกใจมากที่เห็นเขาเป็นแบบนี้ ตามไปดูเจอเขายืนเต้นๆ อยู่ที่ห้องน้ำ อาจารย์จึงทำการปรึกษาแม่ของเด็กเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม่ของเขาก็ยินดีให้อาจารย์จัดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ เพราะถ้ายิ่งโตกว่านี้ก็จะยิ่งปรับแก้ไขกันลำบาก อย่างตอนที่เขามีแสดงงานรำ เขาใส่ชฎาแล้วรู้สึกเจ็บหัวก็โยนชฎาทิ้งลงพื้น เขาจะเป็นเด็กที่อารมณ์รุนแรงอาจารย์จึงเริ่มคิดหาวิธีปฎิบัติโดยการกระตุ้นให้เขากรี๊ด และทุกครั้งที่เขากรีดร้องหรือมีพฤติกรรมรุนแรงเราก็จะกอดเขาไว้ ทำแบบนี้จนเขารู้สึกมั่นใจ รู้สึกใจเย็นลง จากที่เคยไม่พอใจเวลาไม่ได้ดั่งใจเขาก็จะใจเย็นขึ้นไม่กรีดร้องโวยวายแบบก่อน อาจารย์ใช้วิธีสวมกอดทุกครั้งที่เขาโมโห ทำแบบนี้อยู่เทอมนึงเต็มๆ จนวันนึงเขาดีขึ้นเรื่อยๆ จนน่าแปลกใจ คนที่บ้านก็ดีใจมากๆ คุณแม่ก็บอกอาจารย์ว่าคุณปู่ที่บ้านฝากมาบอกว่าขอบคุณอาจารย์มากที่ทำให้หลานเปลี่ยนเป็นเด็กคนใหม่
เคสสุดท้าย ก็จะเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมชอบดึงกางเกงโชว์ วันนั้นที่ห้องศักยภาพ อาจารย์ห้องศักยภาพก็เรียกอาจารย์มาดูว่าลูกศิษย์ของอาจารย์ดึงกางเกงลงมาโชว์ของลับให้คนอื่นดู อาจารย์จึงเรียกเข้าไปตักเตือน แล้วเขาก็ถามอาจารย์กลับมาว่า.. ทำไมถึงทำไม่ได้ อาจารย์ก็บอกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำ แล้วก็บอกเขาว่าสงสัยวันนี้เราต้องโดนทำโทษอยู่ที่โรงเรียนด้วยกันแล้ว ต้องค้างอยู่ที่นี่แหละในห้องมืดๆ เขาก็ถามอาจารย์อีกว่าทำไมต้องอยู่ห้องมืดๆ ทำไมต้องปิดไฟ แล้วทำไมอาจารย์ต้องอยู่ด้วยกัน อาจารย์ก็บอกเขาไปว่า.. ก็เพราะครูสอนเด็กแล้วเด็กไม่ดี ครูเองก็ต้องถูกลงโทษด้วยเหมือนกัน หลังจากอยู่ด้วยกันในห้องมืดวันนั้นเขาก็ดูสำนึกขึ้น ดีขึ้น แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เขาเดินมาบอกอาจารย์ว่า สมุดแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษหาย ไม่ทำแล้วนะ ไม่ทำแล้วนะ อาจารย์เลยบอกเขาว่าไม่เป็นไรมีเล่มใหม่ ให้มาเอาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเริ่มทำใหม่หมดทั้งเล่ม เขาเลยรีบสารภาพมาบอกอาจารย์ว่าเจอแล้ว แล้วก็รีบลงมือทำแบบฝึกหัดทันที
ตอนนี้เวลาเจอลูกศิษย์ เขาก็จะวิ่งเข้ามากอดมาอ้อน บอกเจอแล้วอาจารย์เยาวลักษณ์ อาจารย์ใจร้าย อาจารย์ก็ถามกลับไปว่า ทำไมถึงเรียกอาจารย์ใจร้าย เขาก็จะอ้อนแล้วบอกว่า.. ก็ใจร้ายเพราะรักเด็ก
ความในใจถึงศิษย์รัก
อาจารย์เชื่อมั่นว่าเด็กๆ ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ไม่ว่าจะเคยถูกว่าเป็นเด็กซน เด็กก้าว ร้าวหรือเด็กไม่ดี แต่ถ้าเราให้ความรักเขา อยู่เคียงข้างเขา เขาก็จะพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เป็นเด็กที่ดีขึ้น แต่ถ้าเราเอาแต่ประนามเขา เอาแต่ว่าเขา เขาก็จะไม่มีทางออก จะรู้สึกเหมือนตัวคนเดียว คับแค้นใจ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักที่จะให้โอกาสเขา ให้เขามีทางออกแล้วเขาก็จะหาทางแก้ไขปรับปรุงตัวเองได้เอง อย่างอาจารย์บอกเขาว่ากระโดดไปเลยนะ 25,700 ที เขาก็จะกระโดดแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนเราเห็นว่าเขากระโดดได้ 10 ครั้งแล้ว ก็จะบอกเขาว่า กระโดดดีแล้ว พอได้ ไปพักได้ ตอนนั้นเขาก็จะรู้สึกดีขึ้น เราก็จะสอนให้เขารู้จักคิด ให้เขามีหนทางเลือก ไม่ใช่ว่าเราจะไปปิดกั้นเขาทุกอย่าง เขาก็จะเป็นเด็กที่ดีไม่ได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการดูแลเด็กพิเศษ คือการที่ผู้ดูแลต้องมีความเชื่อมั่นว่าเด็กนั้นจะมีพัฒนาการที่ดีและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติได้ ด้วยความเชื่อนี้ส่งผลให้บุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นอาจารย์เอง หรือผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งคุณหมอที่มาร่วมประเมินพยายามหาวิธีปรับปรุงและแก้ไขเด็กให้อยู่ในทิศทางที่เราต้องการด้วยวิธีที่หลากหลายแตกต่างกันไป ฟังจากเรื่องราวที่อาจารย์ถ่ายทอดมาอาจดูเหมือนสนุกสนานแต่ในสถานการณ์จริงที่ต้องแก้ปัญหาอาจไม่สนุกอย่างนั้น ในการจะปรับแก้นิสัยคนคนหนึ่งต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ซึ่งอาจารย์ก็ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ วันนี้ทางสมาคมศิษย์เก่าสาธิต ประสานมิตร ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์เยาวลักษณ์ วรรณม่วง ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวที่น่าประทับใจเหล่านี้