ถึงศิษย์รัก… อ.ธนวดี ธีรภัทรสกุล
นิทานกับเด็ก ถือว่าเป็นของคู่กัน สิ่งที่ทำให้อาจารย์ธนวดี ยังอยู่ในดวงใจของเด็กๆ หลายคน คือ การเล่านิทานได้อย่างสนุกสนานจนอยู่ในความทรงจำมาหลายสิบปี แม้อาจารย์จะมีภาพลักษณ์ที่ดูจริงจัง ขึงขัง แต่ทุกการตักเตือนของอาจารย์ล้วนเต็มไปด้วยเมตตา เอ็นดู ห่วงใย อยากให้ลูกศิษย์เป็นเด็กดีทั้งในฐานะลูกศิษย์และรุ่นน้องร่วมสถาบัน
อาจารย์ธนวดี ธีรภัทรสกุล
อาจารย์ธนวดี เป็นศิษย์เก่ารุ่นแรก และได้เข้าเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งนี้ตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็ก จนถึง มศ.3 จึงได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าศึกษาต่อในคณะศิลปศาสตร์เอกวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโท คณะครุศาสตร์ เอกบริหารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาได้มาสมัครสอบและได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำในปี พ.ศ. 2516 โดยได้รับหน้าที่สอนวิชาภาษาไทย เลข และ สังคม โดยวิชาหลักที่สอนประจำ คือ วิชาภาษาไทย ระดับชั้น ป.1 และได้เกษียณอายุก่อนครบวาระในปี พ.ศ. 2547 รวมทั้งสินเป็นระยะเวลา 31 ปี
ซึ่งปัจจุบัน อาจารย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน สองภาษาลาดพร้าว มาเป็นระยะเวลาถึง 12 ปีแล้ว
ความประทับใจเกี่ยวกับโรงเรียนและลูกศิษย์
อย่างที่กล่าวในข้างต้น นอกจากจะเป็นอาจารย์ผู้สอนของพวกเราแล้ว ครูยังเป็นทั้งรุ่นพี่และศิษย์เก่าอีกด้วย ความประทับใจในโรงเรียนแห่งนี้จึงมีมากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่ประทับใจในตัวครูผู้สอนของครูเองในสมัยเรียน จนได้เก็บความประทับใจในวิธีการสอนสมัยนั้นมาใช้ในการถ่ายทอดความรู้กับลูกศิษย์ของตัวเอง และความประทับใจเกี่ยวกับโรงเรียนของเรา อาจารย์ยังเล่าให้พวกเราฟังว่า โรงเรียนของเรานั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูงตั้งแต่สมัยที่ครูเรียนอยู่ โดยการเรียนการสอนนั้นมักให้นักเรียนได้ออกความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการกีดกั้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการทดลองเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาโดยที่มิได้เรียนรู้เฉพาะในตำราเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้หัดพัฒนาความคิด การเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นการสอนในรูปแบบ Learning by Doing นั่นเอง ดังนั้นเด็กจึงมีความสนุกในการเรียนและไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะได้เรียนรู้เลยสักครั้ง ครูเลยไม่แปลกใจที่เด็กๆ จะชอบมาเรียนกันตั้งแต่เช้าตรู่ มาก่อนเวลาเข้าเรียนกันด้วยซ้ำ ครูเองก็รักที่จะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อที่จะมาสอนนอกตำรากับเด็กๆ เช่นเดียวกัน เพราะช่วงเวลาเหล่านี้ทำให้เราได้ผูกพันและรู้จักกันมากขึ้น ครูมักจะมีนิทานหรือวรรณกรรมต่างๆ มาเล่าให้เด็กฟังอยู่เสมอ อาทิเช่น รามเกียรติ์ พ่อมดออซ และ บินสุดขอบฟ้า ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าการที่เล่าเรื่องต่างๆ ให้เด็กฟังนั้นมันทำให้เด็กๆ รักการอ่าน อยากจะอ่านออกเขียนได้เพื่ออ่านหนังสือด้วยตัวเอง ทำให้รู้หนังสือเป็นไว อย่างตอนเข้ามาป.1 ใหม่ๆ เทอมแรกเด็กๆ จะยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปในเทอม 2 ทุกคนต่างอ่านออกเขียนได้ ได้เป็นอย่างดี จนได้รับความชื่นชมจากผู้ปกครองหลายท่าน ครูเองก็ชื่นใจและดีใจ และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีศิษย์เก่าบางท่าน เมื่อเจอกันก็ยังพูดถึงเรื่องนิทานที่ครูเล่าให้ฟังสมัยเด็กๆ รวมถึงยังซื้อหนังสือนิทานและวรรณกรรมเหล่านั้นเก็บไว้เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวสู่รุ่นลูกต่อไป
วีรกรรมของลูกศิษย์ที่ประทับใจ
ถ้าให้พูดถึงวีรกรรมครูจะนึกถึงเด็กผู้ชายอยู่คนหนึ่ง ครูว่าเค้าเป็นเด็กที่ฉลาดนะ เค้าเป็นคนช่างถาม จนบางครั้งครูพูดคุยอะไรกับใคร เค้าก็จะต้องเข้ามาถามไถ่ว่าครูคุยกับใครเรื่องอะไรครับ ครูก็ย้อนถามเค้ากับไปว่าแล้วจะรู้ไปทำไมหละ เค้าก็ตอบกลับครูมาว่า “ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมเป็นอะไร ผมแค่รู้สึกว่าผมอยากรู้ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แม้กระทั่งถ้ามีใครโทรมาหาพ่อผม ผมก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการคุย” ครูเองพอฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้ม ขำในความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก แล้วเมื่อผ่านไปอีกไม่กี่วันเด็กชายคนเดิมนี่แหละ เดินเข้ามาหาครูอีกครั้งพร้อมกับพูดกับครูว่า “ครูครับผมอยากจะลองพูดคำหยาบจังเลย ถ้าผมขออนุญาตลองเอาไปพูดกับเพื่อนจะได้ไหมครับ” ตอนนั้นครูเองก็รู้สึกตกใจกับคำถามแต่ก็ถามกลับไปว่า ทำไมถึงอยากพูดคำหยาบ เด็กชายตอบกลับมาว่า “ผมเห็นพ่อผมเวลาท่านคุยกับเพื่อนเค้าก็คุยคำหยาบกัน เขาพูดแทนกันว่า กู-มึง ด้วย ผมฟังแล้วก็อยากจะลองบ้าง” พอครูฟังแล้วก็เลยต้องถามเค้ากลับไปว่า ตอนนี้คุณพ่อท่านอายุเท่าไหร่ลูก เด็กชายตอบกลับมาว่า “45 ปี ครับ” ครูก็ถามกลับไปอีกว่า แล้วตอนนี้หนูอายุเท่าไหร่ลูก เด็กชายตอบกลับมาว่า “6 ขวบครับ” จากนั้นครูเลยยิ้มแลัวตอบเด็กชายไปว่า เดี๋ยวรออายุ 45 เราค่อยพูดก็แล้วกัน แต่ตอนนี้เราเป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ เราตัองเรียกเพื่อนว่า “คุณ” เราก็ต้องทำตามกฎระเบียบของโรงเรียน ต้องพูดจาดีๆ กับเพื่อน กับครู กับผู้ใหญ่ เมื่อวันหนึ่งที่หนูโตขึ้น หนูจะค่อยๆ เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ครูก็ค่อยๆ อธิบายให้เค้าเข้าใจ โดยที่ไม่ได้ดุด่าเขาสักคำ เพราะครูเข้าใจนะว่า เด็กๆ เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เริ่มมีความคิดอยากลอง อยากเป็น อยากทำตาม เพราะเขาเห็นผู้ใหญ่เป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของเด็กแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือ ครูเองก็ตาม เราก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขา
ความในใจจากอาจารย์ถึงศิษย์รัก
ด้วยความที่อาจารย์ เป็นครูสอนหลักให้กับนักเรียนระดับชั้นประถม 1 ครูก็จะยังดูไม่ออกว่านักเรียนคนไหนโตขึ้นไปจะเก่งหรือไม่เก่ง หรือโตไปแล้วจะได้ดีระดับไหน แต่ด้วยความเป็นครูที่มีหน้าที่สอน ครูรู้เพียงว่าครูต้องสอนนักเรียนทุกคนให้เต็มที่และดีที่สุด สิ่งที่สำคัญเลยก็คือ แม้ว่าเขาจะเป็นเด็ก เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้ ตัองกล้าที่จะพูด กล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำ ซึ่งนั่นคือหน้าที่ของครูที่จะทำให้เด็กสาธิตมีลักษณะพิเศษเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นทักษะที่สำคัญที่จะติดตัวไปจนโต เรียกได้ว่าหากคนใดก็ตามที่อาจจะเรียนไม่เก่ง ครูก็ค่อนข้างมั่นใจว่าอย่างน้อยๆ เค้าก็จะสามารถเอาตัวรอดได้ หรืออาจจะถึงขั้นประสบความสำเร็จในชีวิตเลยก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าเด็กคนนั่นจะเรียนเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เพราะความเป็นผู้นำ ความคิดในการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา มีติดอยู่ในตัวของเด็กสาธิตทุกคน
ลักษณะเด่นของเด็กสาธิต มีความชัดเจน กล้าหาญ รู้จักเอาตัวรอด ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการหล่อหลอม ความตั้งใจของเหล่า คณาจารย์ ทุกครั้งที่สัมภาษณ์เรารับรู้ถึงความตั้งใจในการที่จะสั่งสอน และดึงศักยภาพที่มีในตัวเด็กออกมาใช้อย่างเต็มที่ ทางสมาคมศิษย์เก่าสาธิต ประสานมิตร ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์ ธนวดี ธีรภัทรสกุล ที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราว ให้พวกเราได้หายคิดถึง มา ณ โอกาสนี้